วิสาขบูชาวันสำคัญสากลโลก
วิสาขบูชา ย่อมาจากคำว่า “วิสาขปุรณมีบูชา”แปลว่า การบูชาพระในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ (คือเดือน ๖ ภาคกลาง) ซึ่งมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น ๓ ประการ ในวันวิสาขบูชา ดังนี้
- เป็นวันประสูติ นับเป็นวันที่รูปกายของพระสัมมา สัมพุทธเจ้าได้อุบัติขึ้นบนผืนโลก ณ ลุมพินีสถาน เมื่อวันเพ็ญเดือน ๖ ตรงกับวันศุกร์ขึ้น ๑๕ ค่ำ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี พระนางสิริมหามายา พระมเหสีของพระเจ้า สุทโธทนะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ได้ประสูติพระโอรส ณ ใต้ต้นสาละนั้น ครั้น พระกุมารประสูติได้ ๕ วัน ก็ได้รับการถวายพระนามว่า "สิทธัตถะ"
- เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมโพธิญาณ ณ ร่มต้นอัสสัตถพฤกษ์ หรือต้นพระศรีมหาโพธิ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา พระมหาบุรุษได้ทรงบรรลุสัพพัญญุตญาณ
- เป็นวันปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนพุทธศักราช ๑ ปี ณ ป่าสาลวัน เมืองกุสินารา
นับว่าเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง ที่เหตุการณ์ทั้ง ๓ เกี่ยวกับวิถีชีวิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมีช่วงระยะเวลาห่างกัน นับเวลาหลายสิบปี บังเอิญเกิดขึ้นในวันเพ็ญเดือน ๖ (ภาคกลาง) ดังนั้นเมื่อถึงวันสำคัญ เช่นนี้ ชาวพุทธทั้งคฤหัสถ์ และบรรพชิต ได้พร้อมใจกันประกอบพิธีบูชาพระพุทธองค์ เป็นการพิเศษ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณพระปัญญาธิคุณ และพระบริสุทธิคุณ ของพระองค์ท่านผู้เป็นดวงประทีปของโลก
องค์การสหประชาชาติกำหนดให้ วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญของโลก เนื่องจากคณะกรรมมาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้ร่วมพิจารณาและมีมติเห็นพ้องต้องกันประกาศให้วันวิสาขบูชา ถือเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของโลกทั้งนี้ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ทรงเป็นมหาบุรุษผู้ให้ความเมตตาต่อหมู่มวล มนุษย์ทั้งหลายในโลก จะเห็นได้จากการยกเลิกแบ่งชนชั้นวรรณะ ซึ่งเท่ากับเป็นการเลิกทาสโดยไม่มีการเสียเลือดเสียเนื้อ นอกจากนี้พระองค์ยังทรงเป็นนักอนุรักษ์สัตว์ป่าอีกด้วย กล่าวคือ ทรงสอนให้ไม่ฆ่าสัตว์ ให้รู้จักช่วยเหลือสัตว์ เหตุผลสำคัญ อีกประการหนึ่งคือ พระองค์ ทรงเปิดโอกาสให้ทุกศาสนาสามารถเข้ามาศึกษาพุทธศาสนาเพื่อพิสูจน์หาข้อเท็จจริงได้ โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธและทรงสั่งสอนทุกคนโดยใช้ปัญญาธิคุณสอนโดยไม่คิดค่าตอบแทน
สิ่งที่ควรปฏิบัติในวันวิสาขบูชา
-
- ทำบุญตักบาตร
- ไหว้พระสวดมนต์ สมาทานศีล ๕
- ฟังพระธรรมเทศนา
- เวียนเทียนรอบศาสนสถาน
- บำเพ็ญประโยชน์ต่อชุมชน
- ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน วัดและสถานที่ราชการ